นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอภาคตะวันออก
มีความต้องการฝึกอบรม
เรื่องอะไรบ้าง ?

                                                                                                                                     เรียบเรียง โดย วิทยา พลเยี่ยม

               ในเรื่องศึกษาความต้องการการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอในภาคตะวันออก  มีการศึกษาไว้ 2 ท่าน คือ  คุณชวลิต  หุ่นแก้ว  เมื่อปี 2527  และคุณศุภลักษณ์  พลเยี่ยม  เมื่อปี 2548  จากช่วงระยะเวลาที่ต่างกันมาก  ทำให้เห็นถึงความแตกต่างที่เปลี่ยนจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันได้ในบางประเด็น

                 ทัศนคติที่มีต่อการฝึกอบรม  พบว่าในปี 2527  จากผลการศึกษาของคุณชวลิต  หุ่นแก้ว นั้น  เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ  จะมีทัศนคติที่ดีต่อการฝึกอบรม ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีการใช้ระบบฝึกอบรมและเยี่ยมเยียนมาใช้ในการปฏิบัติงาน  แต่ถ้ามาดูทัศนคติในปี 2548  จากการศึกษาของคุณศุภลักษณ์  พลเยี่ยม  กลับพบว่า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอนั้น  ไม่มั่นใจ หรือ แน่ใจต่อการฝึกอบรม  ว่าจะสามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้จริง  จะเห็นได้ว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนความคิดเห็น หรือทัศนคติต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย  คงมีสาเหตุหลาย ๆ ประการที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ หรือแน่ใจดังกล่าว  ซึ่งจะกล่าวต่อไป  มีข้อมูลทั่วไปของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออกที่น่าสนใจ  จากการศึกษาของคุณศุภลักษณ์ ซึ่งถือว่าปัจจุบันที่สุด  คือ  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร มีอายุเฉลี่ย  44.72 ปี  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 97.15  ปริญญาโท ร้อยละ 2.85  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมีอายุรับราชการเฉลี่ย 21.13 ปี  สาเหตุที่ต้องนำเอาข้อมูลทั่วไปดังกล่าวข้างต้นมานำเสนอไว้ เนื่องจากว่า คุณชวลิต ได้ศึกษาพบว่า เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอในภาคตะวันออก มีความต้องการในการฝึกอบรม แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ ตามอายุ แต่ไม่แตกต่างกันตามระดับการศึกษา ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน และตำแหน่งหน้าที่การเงิน พอจะสรุปประเด็นนี้ได้ว่า  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออกที่มีอายุต่างกัน จะมีความต้องการฝึกอบรมในเรื่องแตกต่างกัน ดังนั้น การจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้ข้าราชการอายุน้อยในภาคตะวันออก  กับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 44.72 ปี นั้นจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการเบื่อหน่ายต่อการฝึกอบรม

               ประเด็นความรู้หรือวิชาที่ต้องการฝึกอบรม 
                   ในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว  จากการศึกษาของคุณชวลิต พบว่าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ ต้องการฝึกอบรมด้านส่งเสริมการเกษตร เรียงตามลำดับ ดังนี้
                   1. วิชาเทคนิคและวิธีการที่ใช้ในการส่งเสริม
                   2. วิชาหลักการส่งเสริมการเกษตร
                   3. วิชาการวางแผนงาน
                   ส่วนด้านวิชาการเกษตรนั้นต้องการฝึกอบรม
                   1. วิชาป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว
                   2. วิชาความรู้เรื่องข้าว
                   3. วิชาพืชเศรษฐกิจ

               แต่ในปี 2548  จากการศึกษาของคุณศุภลักณ์  กลับพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่านักวิชาการส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออก มีความต้องการฝึกอบรม 5 หมวดวิชาเรียงลำดับต้องการมากไปหาน้อย ดังนี้
                   1. วิชาด้านคอมพิวเตอร์
                   2. วิชาด้านความรู้ในการพัฒนาตนเอง
                   3. วิชาด้านส่งเสริมการเกษตรและโครงการตามนโยบายเน้นหนัก
                   4. วิชาด้านความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
                   5. ด้านวิชาการเกษตรทั่วไป             

               จะเห็นได้ว่านักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในภาคตะวันออกในปัจจุบัน  ให้ความสนใจกับวิชาการร่วมสมัย ส่วนเรื่องวิชาการเกษตร ซึ่งในอดีตมีความต้องการฝึกอบรมมากเป็นอันดับแรก  แต่กลับพบว่ามีความต้องการในอันดับสุดท้ายในปัจจุบัน  โดยเฉพาะหมวดคอมพิวเตอร์นั้น ต้องการฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป  เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการฝึกใช้เครื่อง  การใช้โปรแกรม Power Point ในการเสนอผลงาน  การใช้โปรแกรมการจัดการฐานข้อมูล  และการใช้โปรแกรมด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์  และหมวดความรู้ในการพัฒนาตนเอง  เช่น เทคนิคการประชุมและการถ่ายทอดความรู้  ศิลปะการพูด  ศิลปะการเป็นผู้นำ เทคนิคการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานก็เป็นหมวดวิชาที่ต้องการฝึกอบรม  รองลงมาจากการฝึกอบรมด้านคอมพิวเตอร์

               สิ่งที่น่าในใจอีกประเด็น คือ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอภาคตะวันออก เห็นว่าปัญหาสำคัญของการฝึกอบรม 3 ประเด็นหลัก คือ
                   1. ฝึกอบรมแล้วไม่สามารถนำความรู้มาปรับใช้ในการปฏิบัติงานเท่าที่ควร
                   2. วิทยากรขาดเทคนิคและวิธีการที่จะจูงใจผู้เข้ารับการอบรม
                   3. วิทยากรมีความรู้ในหัวข้อวิชาที่ถ่ายทอดไม่เพียงพอ

               ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะว่า
                   1. การจัดหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปปฏิบัติได้ และสอดคล้องกับงานที่จะต้องปฏิบัติจริง
                   2. ควรมีวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถ และเคยปฏิบัติงานในเรื่องที่สอนจริง
                   3. ควรจัดหลักสูตรการอบรมให้มีการฝึกปฏิบัติและศึกษาดูงานประกอบด้วย
                   4. ควรจัดอบรมเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และพิจารณาเลือกคุณสมบัติผู้เข้าอบรมให้เหมาะสมกับหลักสูตร

               ได้อะไรจากงานวิจัย  2 เรื่องนี้ ?

                   1. นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอภาคตะวันออก มีความไม่มั่นใจหรือแน่ใจต่อการฝึกอบรมว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนางานได้
                   2. ในปีที่ศึกษา (ปี 2548) นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออก มีอายุเฉลี่ย 44.72 และมีอายุรับราชการเฉลี่ย 21.13 ปี  ซึ่งผ่านการฝึกอบรมมามากหลายหลักสูตร ดังนั้นการพิจารณาหลักสูตรของผู้จัดอบรมต้องคำนึงในประเด็นนี้ด้วย
                   3. อายุที่แตกต่างกัน ต้องการฝึกอบรมในประเด็นวิชาที่ต่างกัน วิชาที่ต้องการอบรมในปัจจุบัน ก็จะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น คอมพิวเตอร์ การพัฒนาตนเอง ฯลฯ
                   4. หลักสูตรอบรมต่อไปนี้ ควรมีการจัดแบบครบวงจร ต่อเนื่อง  สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับงานที่จะต้องปฏิบัติจริง
                   5. การพิจารณาคัดเลือกวิทยากร ต้องไม่ใช้ใครก็ได้ หรือ "มวยแทน" เหมือนในอดีต ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และเคยปฏิบัติงานในเรื่องที่สอนจริง
                   6. ผู้จัดอบรมต้องเน้นหลักสูตรการนำผลการฝึกอบรมไปใช้ปฏิบัติจริง ควรมีการติดตามและประเมินผลหลักสูตรการฝึกอบรม
                   7. การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการฝึกอบรม ควรมีหลักสูตรฝึกอบรมด้านพัฒนาจิตใจ  ขวัญกำลังใจในการทำงาน หรือด้านจิตวิทยาในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ  เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการและศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

                 บรรณานุกรม
                  1. ชวลิต  หุ่นแก้ว. 2527.  การศึกษาความต้องการในการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ
ภาคตะวันออก
                  2. ศุภลักษณ์ พลเยี่ยม. 2548. การวิจัยความต้องการฝึกอบรมของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ
ในภาคตะวันออก

กลับหน้าหลัก