ปัจจัยที่มีผลทำให้การดำเนินงาน
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรประสบผลสำเร็จ

      เรียบเรียง โดย วิทยา พลเยี่ยม

               งานพัฒนากลุ่มแม่บ้าน  เป็นอีกงานหนึ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลานาน  และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า  เป็นงานที่เป็นหน้าเป็นตาของกรมฯ เนื่องจากประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงทั้งในแง่มวลชนของกลุ่มแม่บ้าน  และในแง่ของผลผลิตจากกิจกรรมต่าง ๆ  ของแต่ละกลุ่มแม่บ้านแต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ประการ เช่น การปรับโครงสร้างของระบบราชการ  การเปลี่ยนแปลงบทบาทความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตรประจำอำเภอ  และอีกหลาย ๆ สาเหตุ ทำให้ผลการดำเนินงานในเรื่องกลุ่มแม่บ้านนั้น  ดูถดถอยลงเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นน่าจะมาดูผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกลุ่มแม่บ้านในอดีตบางเรื่อง ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้เป็นข้อคิดในเชิงวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุง หรือการพิจารณาจัดตั้งกลุ่มใหม่ต่อไป
               คุณจุฑาพร  ศรีวิพัฒน์  ได้ทำการศึกษาเรื่องปัจจัยที่มีผลทำให้การดำเนินงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรประสบผลสำเร็จ  โดยดำเนินการศึกษากับกลุ่มแม่บ้านดีเด่นระดับจังหวัด  จำนวน 67 กลุ่ม ใน 67 จังหวัด ถึงแม้งานวิจัยฉบับนี้จะดำเนินงานมาแล้วหลายปี แต่ผู้เขียนคิดว่าผลงานวิจัยที่ค้นพบนั้นยังเป็นประโยชน์ และสามารถนำมาปรับใช้ได้ในปัจจุบัน
               คุณจุฑาพร  ศึกษาเพื่ออยากจะทราบว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลทำให้การดำเนินงานกลุ่มแม่บ้านประสบผลสำเร็จ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่จะทำให้การดำเนินงานของกลุ่มแม่บ้านประสบผลสำเร็จ ประกอบด้วย
                    1.  การได้รับการตอบสนองความต้องการของสมาชิกกลุ่ม  งานวิจัยนี้พบว่า กลุ่มแม่บ้านกลุ่มใดก็ตามที่สามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกกลุ่มได้สูง (สมาชิกกลุ่มได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ) จะประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่สนองความต้องการของสมาชิกได้ต่ำ
               อธิบายง่าย ๆ ก็คือ  การที่จะเกิดการรวมกลุ่มของกลุ่มแม่บ้านนั้น  ปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มร่วมกันก็คือ การมีความต้องการร่วมกัน ซึ่งความต้องการนี้ก็มีหลากหลายแล้วแต่กิจกรรม  และวัตถุประสงค์ของกลุ่มนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตามในส่วนลึกๆ ของจิตใจนั้น  สมาชิกไปรวมกลุ่มต่างก็มีความต้องการอะไรบางอย่างอยู่ในใจ  ดังนั้น เมื่อการดำเนินงานกลุ่มผ่านไปตามระยะเวลา กลุ่มแม่บ้านใดก็ตามสามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกในกลุ่มได้  กลุ่มนั้นก็ประสบความสำเร็จ  ในทางกลับกันบางกลุ่มตั้งขึ้นมา จากการจัดตั้ง สมาชิกก็ไม่ได้มีความต้องการร่วมกันอย่างแท้จริง การดำเนินงานกลุ่มก็ไม่ได้ตอบสนองอะไรกับสมาชิก  หรือตอบสนองน้อยมาก กลุ่มนั้นก็ไปไม่รอด ดังนั้นการจะจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านใหม่จะต้องพิจารณาว่าแท้ที่จริงแล้ว กลุ่มมีความต้องการเรื่องอะไรบ้าง ความต้องการนั้นต้องสามารถกระทำให้สำเร็จได้ โดยกลุ่ม  ไม่ใช่เป็นความต้องการแบบฝันกลางวัน กิจกรรมที่กำหนดต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์  และความต้องการของสมาชิก เริ่มจากน้อยก่อนแล้วค่อยขยายไปเรื่อย ๆ ตามศักยภาพของกลุ่ม
                    2. การได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่  งานวิจัยพบว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนด้านความรู้  วัสดุ  ครุภัณฑ์  และเงินทุน จากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง  กับการพัฒนากลุ่มมากจะประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุน ด้านความรู้ วัสดุครุภัณฑ์ และเงินทุนจากเจ้าหน้าที่น้อย
               การสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ  และจำเป็นอย่างยิ่งของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการพัฒนากลุ่ม  ยิ่งสนับสนุนมาก กลุ่มก็จะประสบความสำเร็จมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังเริ่มต้น และอยู่ในเขตห่างไกลจากความเจริญ นักส่งเสริมหลายท่านคงสามารถเปรียบเทียบได้เอง ระหว่างในอดีตที่ท่านเคยพบปะช่วยเหลือ  สนับสนุนกลุ่มค่อนข้างมาก กับในช่วงไม่กี่ปีที่แล้วมาซึ่งท่านได้ห่างเหินจากกลุ่มเดิม ๆ ไปมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งคงไม่ต้องกล่าวในที่นี้แต่ทุกท่านตระหนักดีในเรื่องดังกล่าว
                    3. การสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่น  นอกจากเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญแล้ว งานวิจัยนี้พบว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่นมากจะประสบความสำเร็จมากกว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่นน้อย
               โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันผู้นำ และองค์กรท้องถิ่น  เช่น  อบต. อบจ. ฯลฯ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนการบริหารงานของสถาบันเกษตรกร เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีความเข้มแข็งขึ้น มีความพร้อมทั้งบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณ  ดังนั้น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ต้องการประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน จำต้องคำนึงเป็นอย่างมากในการประสานงาน ขอความร่วมมือ ทั้งในด้านเงินทุนสนับสนุนโครงการ  กิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจน การขอสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำกิจกรรมของกลุ่ม
                    4. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ได้รับข่าวสารและความรู้มาก  จะประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มแม่บ้านที่ได้รับข่าวสารและความรู้น้อย
               การได้รับความรู้และข่าวสารมาก เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนากลุ่มให้ประสบความสำเร็จ เพราะข่าวสาร (Messages) และความรู้  (Knowledge)  นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากโดยเฉพาะในยุคไอที หรือยุคคอมพิวเตอร์ ผู้เขียนเคยไปนอนพักกับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรของประเทศเนเธอแลนด์  เห็นข้อมูลข่าวสาร และแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่เขาได้รับแต่ละวัน (รับจากกล่องจดหมายหน้าบ้าน) แล้วก็ตกใจ  จากการสอบถามทราบว่าข้อมูลสถานการณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่เขาทำอยู่ จะได้รับการจัดส่งให้ฟรีจากองค์กรเกษตรกร (Farmers Union)  ที่เขาสังกัดอยู่ และส่วนหนึ่งก็มาจากองค์กรข้างนอกที่เขาสมัครเป็นสมาชิก ดังนั้นการมีข้อมูลมากเพียงพอ และทันสมัยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของกลุ่ม
               ผลสรุปของงานวิจัยฉบับนี้ สามารถสรุปได้ด้วย Diagram ดังนี้

              ปัจจัยทั้ง 4 ประการมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จากผลการศึกษาวิจัย รายละเอียดทั้งที่ได้กล่าวมาแล้ว  ดังนั้น นักส่งเสริมท่านใดที่รับผิดชอบงานพัฒนากลุ่มแม่บ้านอาจจะลองถามตัวเองดูว่า กลุ่มที่ท่านรับผิดชอบอยู่นั้นเป็นไปตามผลการวิจัยนี้หรือไม่  ถ้ายังบกพร่องหรือยังขาดอยู่ ลองหาทางเพิ่มเติมดู อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า ผลงานวิจัยฉบับนี้หรือทฤษฎีดังกล่าวนี้ เป็นจริงมากน้อยเพียงใด
              อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าการประสบความสำเร็จของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนั้น ไม่ใช่เรื่องยากจนสุดความสามารถ หรือเอื้อมไม่ถึงของนักส่งเสริมการเกษตร แต่การที่จะรักษาความสำเร็จของกลุ่มให้ยั่งยืน และถาวรนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ อีกทั้งปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบนั้นมีมากมาย และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ปรัชญา "การพัฒนากลุ่มแบบพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกท่านต้องตระหนักเพื่อความยั่งยืน ถาวรของการพัฒนากลุ่มแม่บ้านตลอดไป

              บรรณานุกรม
                   1.  คุณจุฑาพร  ศรีวิพัฒน์  รายงานการวิจัย เรื่อง ปัจจัยที่มีผลทำให้การดำเนินงานกลุ่มแม่บ้านประสบผลสำเร็จ


กลับหน้าหลัก